Open hour - 7 am - 5 pm

ผ้าทอบ้านน้ำอ่าง

       

ผ้าซิ่นตีนจก น้ำอ่าง

 

          บ้านน้ำอ่างเป็นชุมชนหนึ่งที่มีอัตลักษณ์ทางด้านศิลปวัฒนธรรมเป็นของตนเอง อันเนื่องมาจากผู้คนที่อาศัยอยู่ในบ้านน้ำอ่างนี้มีเชื้อสายไท โยนก หรือไท - ยวน ตามประวัติและตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ต่อเนื่องกันมาว่า บรรดาผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณบ้านน้ำอ่างในปัจจุบัน บรรพบุรุษได้มาจากเมืองเชียงแสน ซึ่งปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงราย การอพยพเคลื่อนย้ายนั้น ไม่ได้มาเฉพาะผู้คน ทรัพย์สิน ข้าวของเงินทองเท่านั้น สิ่งที่สำคัญประการหนึ่งคือ ได้นำเอาวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรมมาด้วย

     นอกจากภาษาพูดที่เป็นภาษาเหนือ เหมือนกับภาษาที่พูดกันในอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงรายแล้ว การทอผ้าก็เป็นวัฒนธรรมที่ติดตามมา และยังคงมีให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน ลวดลายของผ้าทอลายโบราณ เช่น ลายหงส์ ที่เรียกว่า หงส์บ่แล้วแคล้วบ่จอด ลายขอกระเบื้องเป็นต้น ลวดลายเหล่านี้ได้สะท้อนถึงความเชื่อ เช่น หงส์ตามความเชื่อในพุทธศาสนา เนื่องในอดีตชาติของพระพุทธเจ้าเคยเสวยพระชาติเป็นพญาหงส์ จึงเป็นสัญลักษณ์แห่งภูมิธรรมอันสูงและความบริสุทธิ์ ลวดลายผ้าทอเหล่านี้จึงเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่า
จึงต้องมีแนวทางการอนุรักษ์ ส่งเสริม สืบทอดให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง จึงได้มีการจัดตั้งกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านน้ำอ่างขึ้นและก่อให้เกิดรายได้อีกทางหนึ่ง กองศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ จึงได้เก็บรวบรวมข้อมูลผ้าทอน้ำอ่างเพื่อเป็นฐานข้อมูลไว้ สำหรับผู้ที่สนใจศึกษา และยังเป็นการอนุรักษ์มรดกอันทรงคุณค่าของท้องถิ่นไว้

                                                                                คณะผู้จัดทำ

กองศิลปวัฒนธรรม สำนักงานอธิการบดี

มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕

  • Hits: 1020