Open hour - 7 am - 5 pm

การเปรียบเทียบภาษาไทยมาตรฐานกับภาษาถิ่นลาวเวียง

ความเป็นมาและความสำคัญของการศึกษาค้นคว้า

          ภาษา เป็นสิ่งที่มนุษย์ใช้อยู่ทุกวันในชีวิตประจำวัน โดยการเลือกใช้ภาษาจะขึ้นอยู่กับบริบทและสถานการณ์นั้น ๆ ภาษาทุกภาษามีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การเปลี่ยนแปลงของภาษานั้นจะสะท้อนให้เห็นถึงร่องรอยในอดีตและความเป็นไปในปัจจุบัน มนุษย์สร้างภาษาขึ้นเพื่อใช้ติดต่อสื่อสารกันในสังคม ภาษาจึงเป็นรากฐานสำคัญในการดำรงชีวิต เพราะว่ามนุษย์ต้องใช้ภาษาในการติดต่อและแลกเปลี่ยนความคิดกันอยู่ตลอดเวลา ภาษายังเป็นเครื่องมือในการช่วยพัฒนาความคิดของมนุษย์และยังเป็นเครื่องมือในการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอีกด้วย ภาษานั้นมีความสร้างสรรค์ และเป็นเอกลักษณ์ที่บอกเล่าและแสดงให้เห็นถึงความเป็นชนชาตินั้น โดยการถ่ายทอดทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน ซึ่งภาษาพูดเป็นภาษาที่แท้จริงของมนุษย์ มนุษย์จึงใช้ภาษาพูดในการติดต่อสื่อสารกันในชีวิตประจำวัน การที่มนุษย์จะติดต่อสื่อสารกันได้อย่างเข้าใจนั้น ต้องมีความสามารถในการใช้ภาษาที่มาจากการเรียนรู้ การเรียนรู้ภาษาจึงจำเป็นต่อการใช้ชีวิตมากในทุกยุคทุกสมัย ภาษาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่ทำหน้าในการขับเคลื่อนกลุ่มชนในชุมชนให้เป็นไปตามสังคมที่อยู่อาศัย ด้วยการเรียนรู้และผสมผสานกับความเปลี่ยนแปลงแบบใหม่ที่มีบทบาทเข้ามาในชีวิต ภาษาจึงมีการเปลี่ยนแปลงทุกยุคทุกสมัย ในปัจจุบันนี้บางคำนั้นก็พูดแปลกแตกต่างไปจากเดิม เพราะมนุษย์มีความคิดสร้างสรรค์ ทั้งเพิ่มเติมคำ ตัดคำให้สั้นลง แต่ส่วนใหญ่การตัดเติมคำเหล่านี้จะใช้ในภาษาพูด อาจจะใช้ในบางพื้นที่หรือบางกลุ่มคนเท่านั้น เช่น คำสแลงที่ถูกนำมาใช้สื่อสารกันในกลุ่มเพื่อเข้าใจกันแค่คนในกลุ่มนั้น ดังนั้นภาษาจึงเกิดขึ้นใหม่ได้ตลอดเวลา จากอดีตจนถึงปัจจุบันภาษาถูกเปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน บางคำอาจจะยังใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่บางคำที่มีในอดีตก็ถูกลืมและไม่ถูกนำใช้อีกในปัจจุบัน รวมไปถึงภาษาถิ่นที่เกิดขึ้นมาในอดีต บางพื้นที่นั้นถูกภาษาไทยกลางกลืนกินความเป็นภาษาถิ่นจนทำให้ความเป็นอดีตนั้นหายไป วิวัฒนาการหรือความเปลี่ยนแปลงภาษาย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติ ภาษาจะเสื่อมสูญไปหรือจะพัฒนา ก็ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงความเจริญด้านต่าง ๆ ของแต่ละยุคสมัย ปัจจัยที่ทำให้ภาษาเปลี่ยนแปลงไปนั้นมีอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตหรือเทคโนโลยีก็มีส่วนร่วมด้วย ดังนั้นการที่ภาษาไม่ว่าจะเป็นภาษาพูด ภาษาเขียน หรือภาษาถิ่น มักจะเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย

         ภาษาถิ่น เป็นภาษาที่ใช้สื่อสารกันในท้องถิ่นนั้น ๆ จะมีความเข้าใจกันระหว่างผู้คนที่อาศัยอยู่ตามท้องถิ่นนั้น ซึ่งภาษาถิ่นของแต่ละพื้นที่ก็จะแตกต่างกันออกไป บ้างพื้นที่แค่คนละหมู่บ้านก็พูดภาษาถิ่นต่างกัน ภาษาถิ่น เป็นภาษาที่มีลักษณะเฉพาะ ทั้งถ้อยคำและสำเนียง แสดงถึงเอกลักษณ์ ลักษณะความเป็นอยู่ และวิถี

ชีวิตของผู้คนในท้องถิ่นของแต่ละภาคของประเทศไทย บางที่เรียกว่า ภาษาท้องถิ่น ภาษาถิ่นทุกภาษาเป็นภาษาที่สำคัญในสังคมไทย เป็นภาษาที่บันทึกเรื่องราว ประสบการณ์ และวัฒนธรรมทุกแขนงของท้องถิ่น ซึ่งภาษาถิ่นจะเป็นภาษาพูด หรือภาษาท่าทางมากกว่าภาษาเขียน โดยมักจะแบ่งตามภูมิศาสตร์หรือท้องถิ่นที่ผู้พูดอาศัยอยู่ ตัวอย่างเช่น ภาษาภาษาถิ่นลาวเวียง ในอำเภอตรอน เป็นภาษาในตระกูลไท-กะได ซึ่งเป็นตระกูลภาษาที่มีความสำคัญมากตระกูลหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ใช้สื่อสารครอบคลุมพื้นที่บริเวณประเทศไทย ลาว เมียนมาร์ แคว้นอัสสัมทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย เวียดนามเหนือ และทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน มีการเรียกขานต่างกันไปตามชื่อเผ่าพันธุ์ หรือตามที่ชาติอื่นใช้เรียก เช่น ภาษาชาน (Shan) ในเมียนมาร์ ภาษาไทย (Thai) ในประเทศไทย และภาษาลาว (Laos) ในประเทศลาว ภาษาถิ่นลาวเวียงมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในการพูด แม้ภาษาไทยจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น แต่ผู้คนในตำบลหาดสองแควก็ยังคงมีการใช้ภาษาถิ่นดั้งเดิมของตน

ด้วยเหตุนี้กองศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ จึงสนใจที่จะศึกษาภาษาถิ่นลาวเวียง อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์ เพราะภาษาลาวเวียงมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่น่าฟัง ซึ่งภาษาถิ่นลาวเวียงนั้นเป็นภาษาถิ่นที่มาจากชาวลาว เวียงจันทน์ ที่อพยพเข้ามาอยู่ในตำบลหาดสองแคว ทั้งนี้ไม่ได้น่าสนใจแค่ภาษาเท่านั้น ยังมีทางด้านวัฒนธรรม และการแต่งกายที่น่าสนใจร่วมด้วย แม้เวลาจะผ่านมานานหลายปีแต่ภาษาถิ่นลาวเวียงนั้นก็ยังถูกใช้อยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรอนุรักษ์และสานต่อไปให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ถึงการมีอยู่ของภาษาลาวเวียง การศึกษาภาษาถิ่นนั้นได้รับรู้ถึงภาษาที่คนในหมู่บ้านใช้ ที่แตกต่างกับภาษาไทยกลางในการออกเสียง สำเนียง รวมไปถึงความหมายด้วย และในปัจจุบันนี้มีผู้สนใจศึกษาและค้นคว้าเกี่ยวกับคำภาษาถิ่นลาวเวียงไว้น้อยมาก จึงได้ทำการศึกษาภาษาถิ่นลาวเวียง ตำบลหาดสองแคว อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์เพื่ออนุรักษ์และคืนความรู้ให้แก่หมู่บ้านและผู้คนที่สนใจ

 

 

 

 

You don't have a pdf plugin, but you can download the pdf file.

  • Hits: 1243